ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ สหกรณ์เดินรถเกาะสมุย จำกัด

เปลี่ยนภาษาหน้าเว็บ Translate for website 改变语言


ข่าวสาร และ ประกาศ

วันพ่อ 5 ธันวาคม 2563 พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เรื่องราวของพ่อ

พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย

วันนี้วันพ่อ  ขอนำเรื่องราวพระประวิติของพ่อแห่งการสหกรณ์ไทย มาให้พี่น้องชาวสหกรณ์ได้อ่านกัน

พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย  มหาอำมาตย์โท พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ มีพระนามเดิมว่า พระบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส หรือนามปากกาว่า น.ม.ส. (10 มกราคม พ.ศ. 2420 – 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2488) เป็นปราชญ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เป็นองค์ต้นราชสกุล รัชนี

พระประวัติ

พระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ มีพระนามเดิมว่า พระบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส เป็นพระราชโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) กับจอมมารดาเลี่ยมเล็ก (ธิดานายสุดจินดา (พลอย ชูโต) ประสูติเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2420 ในพระบวรราชวัง มีพระเชษฐภคินีหนึ่งพระองค์คือพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภัททาวดีศรีราชธิดา

เมื่อเยาว์วัยทรงเรียนหนังสือกับพระมารดาที่ตำหนัก เมื่อพระชันษา 5 ปี ก็ทรงอ่านหนังสือได้คล่อง ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อพ.ศ. 2429 และต่อมาศึกษาภาษาอังกฤษจนถึงพ.ศ. 2436 จึงเข้ารับราชการในตำแหน่งนายเวร กระทรวงธรรมการ ขณะพระชันษา 16 ปี และได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยในกรมศึกษาธิการใน ทรงรับหน้าที่พิเศษเป็นข้าหลวงสอบไล่วิชาหนังสือไทย ทรงเป็นกรรมการพิเศษร่างพระราชบัญญัติพิจารณาความแพ่ง และทรงได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

วันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2432 ผนวชเป็นสามเณร โดยมีพระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระเมธาธรรมรส (อ่อน อหึสโก) เป็นพระศีลาจารย์  เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสตามเสด็จด้วย ทรงศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นเวลาสองปี และเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2442  เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระริเริ่มตั้งลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2470 และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการองคมนตรี  โดยทรงได้รับเลือกเป็นสภานายก เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2474

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 ด้วยพระโรคหลอดเลือดในสมองตัน สิริพระชันษา 68 ปี 195 วัน มีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2491 ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส

พระกรณียกิจ

พ.ศ. 2442 ทรงเข้ารับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ทรงรับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตรวจและกรมสารบาญชี  พ.ศ. 2444 ทรงย้ายเป็นปลัดกรมธนบัตร และเจริญก้าวหน้าเป็น ผู้แทนเจ้ากรมธนบัตร เจ้ากรมกองที่ปรึกษาอธิบดีกรมประสาปน์สิทธิการ อธิบดีกรมตรวจและกรมสารบาญชี อธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ ทรงจัดตั้งและวางรากฐานกิจการสหกรณ์ จนในที่สุดได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส เป็นองคมนตรี และในวันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นพระราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงศักดินา 11000 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งองคมนตรีต่อไป โดยทรงดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475  พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ดำรงตำแหน่งอุปนายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร ซึ่งต่อมาได้รวมเข้ากับกรมศิลปากร ต่อมาได้เปลี่ยนจากหอสมุดสำหรับพระนครเป็น "ราชบัณฑิตยสภา

การสหกรณ์ไทย

ทรงดำริให้จัดสร้างสหกรณ์วัดจันทร์ สหกรณ์แห่งแรกของไทย

วันสหกรณ์แห่งชาติ ตรงกับวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ของทุกปี.

สารสนเทศ